วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

กินน้ำแข็งให้ปลอดภัย ช่วงหน้าร้อน


ใกล้เข้าสู่ช่วงหน้าร้อนกันแล้ว และสิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนตัวช่วยในการคลายร้อนได้เป็นอย่างดีคือ “น้ำแข็ง” นั่นเอง  ทราบหรือไม่ว่า น้ำแข็งที่อยู่ในขนมหวาน หรือเครื่องดื่มที่กินเข้าไปแล้วรู้สึกเย็นชื่นใจ มันอาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราท้องเสียได้
โดยที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร  มักจะคิดแค่ว่าวันนี้กินอาหารมื้อหลักอะไรมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจเกิดจากน้ำแข็งที่เรากินเข้าไปก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงมีคำแนะนำในการเลือกซื้อ และเลือกกินน้ำแข็งอยากปลอดภัยมาฝาก
เป็นคำแนะนำจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เริ่มจากการเลือกซื้อน้ำแข็งหลอดที่ก่อนจะซื้อ ผู้บริโภคจะต้องเลือกซื้ออย่างระมัดระวัง โดยต้องสังเกตรายละเอียดบนฉลาก ที่ต้องมีข้อความภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ และควรมีข้อความแสดงรายละเอียด ทั้งชื่ออาหาร, เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย., ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต, น้ำหนักสุทธิเป็นระบบเมตริก ข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน
สำหรับ น้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งขายหรือเสริฟตามร้านอาหาร จะเป็นน้ำแข็งที่จำหน่ายโดยไม่ต้องมีฉลาก ดังนั้น ผู้บริโภคควรสังเกตน้ำแข็ง สถานที่เก็บรักษา ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาดไม่มีการปนเปื้อน หากเป็นน้ำแข็งซองควรซื้อมาบริโภคทั้งก้อน  โดยนำมาล้างน้ำให้สะอาดก่อนทุบหรือบด และควรใส่ในภาชะบรรจุที่สะอาด
น้ำแข็งสะอาดมาจากผู้ผลิต และผู้ขนส่ง และเพราะเชื้อโรค หรือจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ส่วนมากมักปะปนจากการขั้นตอนการผลิตและการขนส่ง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้ผลิตและผู้ขนส่งต้องมีจิตสำนึกที่ดี โดยวิธีการที่จะช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้ คือ ขณะทำการขนส่งน้ำแข็งควรมีภาชนะรองรับ ไม่วางกับพื้นโดยตรง หากจำเป็นหรือมีข้อจำกัดของพื้นที่ ขอให้แยกพื้นทีที่ทำการขนส่งเป็นสัดส่วน และทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนทำการขนส่ง
นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณขนส่ง  ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด ล้างมือทุกครั้ง ก่อนปฏิบัติงานสวมรองเท้าที่สะอาด และควรเป็นรองเท้าคนละคู่กับรองเท้าที่ปนเปื้อนจากนอกบริเวณขนส่ง ไม่สูบบุหรี่หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะขณะทำการขนส่ง  และที่สำคัญห้ามใช้เท้าสัมผัสน้ำแข็ง  ในส่วนของรถขนส่งนั้นต้องเป็นรถที่สะอาด โดยเฉพาะพื้นรถที่วางน้ำแข็งต้องมีการล้างฆ่าเชื้อก่อนทำการขนส่ง และมีมาตรการควบคุมอุณหภูมิน้ำแข็งให้สม่ำเสมอ
เพราะไม่แน่ว่า น้ำที่ใช้ผลิตน้ำแข็ง หรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสะอาดก็จริง แต่ขั้นตอนการส่งไม่รู้จะเป็นอย่างไรอีก เพราะฉะนั้น ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
หนึ่งในวิธีสังเกตของผู้บริโภคที่อาจช่วยได้บ้างคือ เวลาไปดื่มน้ำตามร้านอาหาร ลองสังเกตตอนน้ำแข็งละลาย ว่ามีตะกอนอยู่ก้นแก้วบ้างรึเปล่า ถ้ามีก็ให้เลี่ยงที่จะดื่มเข้าไปจะดีกว่า วิธีนี้นับรวมไปถึงการกินขนมหวาน อย่างน้ำแข็งไสด้วย



ที่มา : สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เครดิต pimchanok

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น