วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตู้ปลา บนโต๊ะทำงาน



การเลี้ยงปลา เป็นงานอดิเรกที่ลดความเครียดได้ดีมากๆ อย่างหนึ่ง มีการทดลองหลายต่อหลายครั้งของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า คนที่มีความเครียดสูง เมื่อได้นั่งดูปลาอย่างสงบๆ สักระยะหนึ่ง ความเครียดนั้นจะลดลง โรงเรียนอนุบาลบางแห่งนิยมนำตู้ปลามาจัดวางให้นักเรียนได้ดู แล้วพบว่า เด็กที่สมาธิสั้นอยู่นิ่งไม่เป็น กลับนั่งดูปลาได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะหากมีครูหรือผู้มีความรู้เรื่องปลามาคอยอธิบาย เล่าเรื่องปลา ธรรมชาติของมัน และการนำมาเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง เด็กก็จะยิ่งสนใจมากเป็นพิเศษ ในประเทศเกาหลีใต้มีหลายบริษัทจัดให้มีตู้ปลาขนาดเล็กๆ ไว้บนโต๊ะทำงานของพนักงานแต่ละคน ไม่ใช่เป็นการเอาใจ หากแต่เป็นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้อย่างชาญฉลาด


ช่วงขณะคร่ำเคร่งกับงาน  ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร งานออกแบบ หรืองานที่ต้องใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ ร่างกายเราจะตึงเครียด หากทำต่อไปสักระยะก็จะอ่อนล้าโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ไม่ได้ใช้แรงงานอะไร แต่การพักผ่อนสายตาและอารมณ์ในช่วงสั้นๆ สลับกับการทำงานจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู จิตใจผ่อนคลาย สามารถกลับเข้าหางานได้อย่างสดชื่น เหมือนได้เติมพลัง เมื่อมีคนนำแนวคิดนี้มาใช้ได้ผลกับหลายองค์กร ปลาสวยงามในตู้เล็กๆ บนโต๊ะทำงานจึงเข้ามามีบทบาทมากโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษนี้

ตู้ปลา บนโต๊ะทำงาน โดยมากต้องมีขนาดเล็ก เพราะไม่ต้องการให้กินเนื้อที่บนโต๊ะ สามารถวางแล้วไม่ดูเกะกะ สมัยก่อนนิยมโหลกลมๆ เลี้ยงปลาทอง หรือปลาเล็กๆ เพียงนิดหน่อย ไม่มีระบบกรองน้ำหรือไฟส่องสว่าง แต่ภาชนะชนิดนี้ค่อยๆ ลดความแพร่หลายลงไป เพราะความบอบบางของตัวมันเอง ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ แถมยังไม่มีระบบการกรองทำให้คุณภาพน้ำเสียเร็วมาก ผู้เลี้ยงต้องคอยเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำทุกวัน แทนที่จะได้ใช้เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน กลายเป็นมีงานเพิ่มเข้ามาอีก คือล้างโหล เปลี่ยนถ่ายน้ำ ปัจจุบัน วงการปลาสวยงามพัฒนาอุปกรณ์การเลี้ยงปลาไปไกล ตู้ปลาขนาดเล็กที่เรียกกันว่า “ตู้นาโน” จึงเข้ามามีบทบาทแทนโหลแก้วหรือตู้เล็กๆ อย่างสมัยก่อนที่ใช้กระจกบางเฉียบและดูไม่สวยเลย
ตู้ปลา บนโต๊ะทำงาน ควรมีขนาดตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ไปจนถึง 50 เซนติเมตร ใหญ่กว่านี้ควรเอาไปตั้งที่อื่นแล้ว เพราะคงกินเนื้อที่โต๊ะไปเกือบหมด ส่วนตู้ที่เล็กมากกว่า 30 เซนติเมตร มันก็จะเป็นอะไรที่เรียกว่าคุกตารางสำหรับปลามากเกินไป (เคยเห็นหลายคนพยายามแข่งกันเลี้ยงปลาในตู้ที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ บางตู้เล็กกว่าจอกน้ำชาเสียอีก เห็นปลาว่ายในนั้นแล้วรู้สึกหดหู่ทรมาน ไม่มีความสวยงามอะไรเลยสักนิดเดียว)
คุณสมบัติของตู้ปลาบนโต๊ะทำงานคือ ต้องกระจกหนา เพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่โดนอะไรนิดหน่อยก็ร้าวเสียแล้ว อีกอย่างคือเนื้อกระจกต้องดี ใส ไม่หลอกตา มีความสูงพอประมาณ หรือสูงมากเป็นพิเศษได้ แต่ต้องไม่เตี้ย เมื่อใส่น้ำแล้วต้องมีขอบสูงเผื่อไปอย่างน้อย 2.5 เซนติเมตร ตู้อาจมีฝาปิดหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบและชนิดของปลา แต่ควรมีระบบไฟส่องสว่าง ไม่เช่นนั้นตู้จะมืดทึบ ดูแล้วไม่สวยงามอะไรเลย
ตู้ขนาดเล็กที่ไม่มีฝาปิดนิยมใช้ระบบกรองแบบแขวน เนื่องจากประสิทธิภาพสูงในพื้นที่เล็กแคบ แถมยังไม่กินที่เพราะแขวนห้อยไว้ข้างหลังตู้ มีเฉพาะส่วนท่อดูดน้ำเท่านั้นที่จุ่มลงไปเพื่อดูดเอาน้ำจากส่วนล่างของตู้ปลาขึ้นมาบำบัดก่อนปล่อยตกกลับลงไปเหมือนน้ำตก ซึ่งจะได้ทั้งออกซิเจนและเพิ่มการไหลเวียนของน้ำได้ดีเยี่ยม หลีกเลี่ยงระบบกรองภายในตู้ (อย่างที่นิยมใช้กับตู้ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่)
เนื่องจากประการแรก คือ กินเนื้อที่ภายในตู้ไปค่อนข้างมากแล้วยังทำงานลำบาก ช่องที่กั้นแบ่งไว้ด้านในเอามือล้วงลงไปหยิบดึงเอาวัสดุกรองหรือตัวปั๊มน้ำขึ้นมาล้างทำความสะอาดยากมาก พอทำงานยากหลายคนเลยปล่อยไว้อย่างนั้น นานวันเข้าระบบก็ล่ม เพราะตะกอนของเสียสะสมข้นคลั่กล้นหลาม ปลาก็เริ่มป่วยหรือทยอยตาย
ระบบไฟส่องสว่าง หากเป็นตู้ที่มีฝาปิดก็มักติดระบบไฟแบบนี้มาในตัวเสร็จสรรพ แต่หากไม่มีฝาก็สามารถหาซื้อโคมไฟสำหรับตู้ปลาขนาดเล็กมาติดตั้งเองได้ไม่ยาก เลือกที่ให้กำลังแสงเหมาะสมกับตู้ หากโคมไฟเล็กเกินไปก็จะดูบรรยากาศในตู้อึมครึมหม่นหมอง แต่หากโคมใหญ่เกินไปนอกจากจะดูเทอะทะแล้วแสงไฟในปริมาณสูงมากๆ ก็จะทำให้ปลาเกิดความเครียด คนดูก็ไม่สบายตา ที่สำคัญตะไคร่ในน้ำจะก่อตัวเร็ว มาเกาะติดแน่นบนเนื้อกระจก ทำให้ต้องคอยเช็ดขัดกันอยู่บ่อยๆ เป็นภาระอีก
ปลาที่เหมาะกับตู้เล็กแบบนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปลาหางนกยูง ปลานีออน ปลาคาร์ดินัลเตตร้า ปลาซิวข้างขวาน ปลาเอ็มเบอร์เตตร้า ปลาคิลลี่ ปลาหมอแคระ (Dwarf Cichlid) ไปจนถึงปลาเงินปลาทอง ปลาเทวดา ปลาปอมปาดัวร์ ที่โดยปรกติจะต้องเลี้ยงในตู้ขนาดใหญ่ แต่เมื่อจะเลี้ยงในตู้เล็กก็พอทำได้โดยเลือกเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นลูกปลาและเลี้ยงให้น้อยตัว เช่น 1หรือ 2 ตัว ก็พอแล้ว ชนิดปลาที่เหมาะสมคือ ปลาที่เลี้ยงง่าย ไม่ต้องการพื้นที่กว้าง ไม่ดุร้าย ก้าวร้าว
จะเลี้ยงปลาในตู้เล็กให้ดูสวยงาม ควรให้ความสำคัญกับการจัดตู้ด้วย ตู้บนโต๊ะทำงานที่ได้รับความนิยมมากคือ ตู้ที่ประดับตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำ คนดูจะได้รับความงดงามของสีสันเขียวสดขจีของต้นไม้ ตัดกับสีสวยๆ ของปลาที่แหวกว่ายเคล้าคลอ ต้นไม้ควรเลือกชนิดที่ทนทาน ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ต้องการการเลี้ยงแบบพิเศษ เป็นต้นว่า อนูเบียส เฟินชวา เฟินวินเดอลอฟ มอส อะเมซอน ส่วนชนิดที่นิยมปลูกเลี้ยงกันในตู้พรรณไม้น้ำจริงจังพยายามหลีกเลี่ยง จริงอยู่ว่าหลายคนมีฝีมือถึงขั้นสามารถเลี้ยงรอดได้แน่นอน แต่อย่าลืมว่าจุดประสงค์ของ ตู้ปลา บนโต๊ะทำงาน มีไว้เพื่อลดความเครียดจากงาน เป็นเครื่องพักผ่อนสายตา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานในบริษัทหรือองค์กร ไม่ใช่มีไว้เพื่อเอาเวลามาดูแล เฝ้าประคบประหงมมันครับ
เมื่อเลือกซื้อตู้ปลา ระบบกรอง ระบบไฟส่องสว่าง และวัสดุสำหรับตกแต่ง มาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนแรกให้หามุมสำหรับวางตู้บนโต๊ะทำงานของเราให้ได้เสียก่อน ควรเลือกมุมสงบที่สุดและไม่เกะกะ จากนั้นล้างตู้และวัสดุตกแต่งด้วยน้ำเปล่า เทกรวดหรือดินที่จะใช้ตกแต่งลงไป ติดตั้งระบบกรอง แล้วค่อยลงมือจัดวางของตกแต่งหรือปลูกต้นไม้ ต้นไม้บางอย่างที่ผูกไว้ติดกับขอนไม้ อย่าง อนูเบียส สามารถจัดวางลงไปได้เลย เสร็จเรียบร้อยหาถ้วยมา 1 ใบ วางลงกับพื้น เติมน้ำโดยให้ปลายน้ำทิ้งลงกับถ้วยช้าๆ ถ้วยจะป้องกันไม่ให้น้ำกระแทกดิน กรวด หรือต้นไม้ ที่ปลูกเลี้ยงไว้ให้เสียหาย พอน้ำเต็มก็เริ่มระบบการทำงานของกรอง ติดตั้งระบบไฟส่องสว่าง เพียงไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็จะใส รอจนครบ 1-2 วัน ค่อยไปหาซื้อปลามาลงเลี้ยง
อย่าเลี้ยงปลาหนาแน่นจนเกินไป ปลาขนาดเล็กๆ จิ๋วๆ อย่าง ปลานีออน อาจใช้สูตร ตัว ต่อน้ำ1 ลิตร ในขณะที่ ปลาทอง 1 ตัว ต้องใช้น้ำ 20-35 ลิตร การเลี้ยงปลาที่หนาแน่นเกิน จะทำให้เกิดสภาพแออัด น้ำเสียเร็ว ปลาเกิดความเครียดตลอดเวลา เราเจ้าของตู้ต้องคอยเปลี่ยนถ่ายน้ำทำความสะอาดให้บ่อย บางทีวันสองวันต้องถ่ายน้ำอีกแล้ว เลี้ยงแค่พอให้ดูสวย ปลามีพื้นที่ว่ายน้ำมีความสุข เราเองก็ไม่ต้องเหนื่อยกับการดูแล แถมยังได้รับความเพลิดเพลินใจกับตู้สวยๆ น้ำใสๆ ใบนี้อีกด้วยครับ
ว่าแล้วผมก็คงต้องออกไปหาซื้อมาเลี้ยงกับเขาสักตู้เหมือนกัน พักหลังนี่มีแต่งานนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ได้เปลี่ยนอิริยาบถดูปลาบ้าง คงมีความสุขดีมิใช่น้อย

พิชิต ไทยยืนวงษ์ 
เกร็ดเกษตร
วันที่ 05 มิถุนายน 2556


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น